• Home
  • / News
  • / EECi FAQ: ในพื้นที่ EECi แบ่งพ...

EECi FAQ: ในพื้นที่ EECi แบ่งพื้นที่เป็นกี่โซน แต่ละส่วนมีความสำคัญอย่างไรบ้าง?

Post Date : 29 July 2021

ทำความารู้จักกับองค์ประกอบภายในพื้นที่ EECi กว่า 3,000 ไร่ ณ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ซึ่งจะเป็นเมืองนวัตกรรมชั้นแนวหน้าของภูมิภาค ก่อนที่เฟสแรกจะพรัอมเปิดใช้งานในปลายปี 2564

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development: EEC) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยดำเนินการใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา นั้น  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเห็นว่า การส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก จะเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมก้าวไปสู่ยุค 4.0 ยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม รวมถึงสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ จึงได้มีแนวทางในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการจัดตั้ง EECi ให้เป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนในพื้นที่ อันจะนำประเทศไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

จากหลักการข้างต้นพื้นที่ภายใน EECi จึงได้ถูกพัฒนาโดยแบ่งออกเป็น 4 โซนที่มีความสัมพันธ์กัน ดังนี้

โซนที่ 1 คือ Community Zone หรือโซนที่เป็นชุมชน พื้นที่นี้จะเป็นส่วนที่รองรับการใช้ชีวิตของคนภายในพื้นที่ EECi และชุมชนโดยรอบ มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ จะประกอบไปด้วยอาคารที่อยู่อาศัย โรงแรม โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์การค้าและนันทนาการ โดยจะมีการพัฒนาให้เป็น Smart City โดยกำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองประหยัดพลังงานต้นแบบของเมืองไทย ที่เพียบพร้อมไปด้วยระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการเป็น Innovation Hub

โซนที่ 2 คือ Education Zone หรือโซนการศึกษา โดยตามแผนที่วางไว้ในพื้นที่จะประกอบไปด้วย โรงเรียนระดับชั้นอนุบาล มัธยม และมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นของไทยและเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนสร้างมหาวิทยาลัยในพื้นที่ได้ด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันเป็นมีโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สถาบันวิทยสิริเมธีย์ (VISTEC) และโครงการปลูกป่าวังจันทร์รวมกันประมาณ 1,000 ไร่ โดยกลุ่ม ปตท. ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้า ให้ได้เรียนรู้วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์อย่างเข้มข้นในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) สำหรับเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยในระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ VISTEC ยังมีศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าหรือ Frontier Research Center เพื่อระดมนักวิจัย ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำและภาคธุรกิจ เพื่อสร้างผลงานวิจัยที่สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจต่อประเทศ

โซนที่ 3 & 4 จะเป็นโซนที่มีความต่อเนื่องกัน คือ Innovation Zone 1 และ 2 ซึ่งมีพื้นที่ราว 2,000 ไร่ จะเป็นส่วนที่ทำเรื่องของ Translational Research และ Technology Localization โดยจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมไม่ว่าจะเป็น โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี และโรงเรือนฟีโนมิกส์ ของ BIOPOLIS (เมืองนวัตกรรมชีวภาพ) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ARIPOLIS (เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ), โครงสร้างพื้นฐานรองรับ SPACE INNOPOLIS (เมืองนวัตกรรมด้านการบิน และอวกาศ), ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC), เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับสูง ขนาด 3 GeV, รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้สอยร่วมกัน อาทิ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์ทดสอบ โรงงานผลิตชิ้นงานต้นแบบ สนามทดลองและทดสอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ที่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยจะมาจัดตั้งศูนย์วิจัยอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการเช่าที่ดินระยะยาว หรือการเช่าพื้นที่ในอาคารเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% คงที่สำหรับผู้เชี่ยวชาญระดับสูง การอำนวยความสะดวกในเรื่องวีซ่าทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ การเข้าถึงพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบเพื่อการทดสอบนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) และการเข้าถึงนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ

กดติดตาม EECi เพื่อรับข่าวสารด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจ

ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0-2564-8000  email: info@eeci.or.th

=================================

Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi)

Integrate Technologies, Accelerate Innovation

https://www.eeci.or.th/th/home

=================================

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

40 ปี ปตท.ตอน “ปตท.ส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ” (mgronline.com)

เมืองนวัตกรรม EECi ปตท.ทุ่ม 5,900 ล้าน สร้างคนรับ EEC (reic.or.th)

footer-shape