• Home
  • / News
  • / Condition-Based Maintenance (CBM) การบํารุ...

Condition-Based Maintenance (CBM) การบํารุงรักษาตามสภาพ กลยุทธ์การบํารุงรักษาที่เครื่องจักรแบบเรียลไทม์

Post Date : 20 March 2023

เครื่องมือ อุปกรณ์และเครื่องจักรทางการผลิตไม่ว่าจะอยู่อุตสาหกรรมใดก็ตาม ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือการจัดการให้มันสามารถทํางานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มี downtime หรือถ้าจะมีก็ต้องอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด เพราะมันมีผลต่อผลการดำเนินงานและกําไรขององค์กร การบํารุงรักษาเชิงป้องกันแม้จะดี แต่สำหรับยุค 4.0 อาจจะไม่ดีพออีกต่อไป

การบํารุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) เป็นการบํารุงรักษาด้วยการคาดการณ์ล่วงหน้า มีการกำหนดระยะเวลาการตรวจสอบและการบำรุงรักษาเครื่องจักรรวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่แน่นอนเพื่อป้องกันความเสียหาย แต่บ่อยครั้งที่อุปกรณ์เกิดความเสียหายก่อนเวลา หรือได้รับการบำรุงรักษาก่อนเวลาอันควร ซึ่งถือเป็นการเสียเวลาและทรัพยากรของ บริษัท ถ้ามองในมุมนี้การบํารุงรักษาเชิงป้องกันมีอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด

หลายองค์กรจึงได้หาวิธีในการดูแลสินทรัพย์เหล่านี้ด้วย การบํารุงรักษาตามสภาพ (Condition-based maintenance : CBM) เป็นกลยุทธ์การบํารุงรักษาที่ตรวจสอบสภาพเครื่องจักรแบบเรียลไทม์ เพื่อให้สามารถทําการบํารุงรักษาเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ซึ่งแตกต่างจากการบํารุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenace) ที่เป็นการบํารุงรักษาตามปฏิทิน มีการกำหนดระยะเวลาการตรวจสอบและการบำรุงรักษาเครื่องจักรรวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่แน่นอนเพื่อป้องกันความเสียหาย

ถึงแม้ว่า CBM จะสามารถนำมาใช้กับเครื่องจักรส่วนใหญ่ได้ แต่เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าเราควรมีเกณฑ์ในการพิจารณาก่อนการนำ CBM ไปใช้ ดังนี้ ประการแรก คือ เครื่องจักร/เครื่องมือนั้นต้องสามารถตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานได้เพื่อให้มีเกณฑ์ในการวัดและติดตามความเปลี่ยนแปลง

สอง, ต้องเป็นเครื่องจักรที่มีความสำคัญ ดังนั้น เราต้องมีการวิเคราะห์ความวิกฤตและจัดลำดับความเสี่ยงของเครื่องจักรว่าอุปกรณ์ชิ้นใดมีแนวโน้มที่จะมีความเสียหาย/ชำรุดมากที่สุดและผลกระทบที่ความเสียหายนั้นจะมีต่อกระบวนการผลิต แล้วเริ่มต้นทำ CBM ตามลำดับความสำคัญนั้น

ข้อดีที่สำคัญของการบํารุงรักษาตามสภาพ (CBM) ก็คือการทำงานของวิธีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานตามปกติของเครื่องจักร เราสามารถเลือกที่จะเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องหรือเฉพาะบางช่วงเวลาผ่านการใช้อุปกรณ์อย่างเซ็นเซอร์ หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบด้วยสายตา ซึ่งเทคนิคที่มักใช้ในการทำ CBM มีดังนี้

  • “การวิเคราะห์การสั่นสะเทือน” สามารถช่วยตรวจจับปัญหา เช่น การเสียสมดุล ความเสียหายของแบริ่ง ความผิดปกติทางกล เสียงสะท้อน เพลางอ เป็นต้น
  • “การตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงค่าอุณหภูมิ” เป็นการใช้เครื่องถ่ายภาพความร้อนเพื่อตรวจจับรังสีที่มาจากวัตถุแปลงเป็นอุณหภูมิและแสดงภาพการกระจายอุณหภูมิแบบเรียลไทม์ มักถูกนำมาใช้กับในเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ยากต่อเข้าถึงหรือมีความเสี่ยงสูง
  • “การวิเคราะห์ด้วยอัลตราโซนิก” เป็นการใช้เสียงเพื่อระบุอาการชำรุด ซึ่งเหมาะสําหรับการค้นหาปัญหาเชิงกล เช่น ความเสื่อมสภาพของเครื่องจักรทำให้เกิดการเสียดสี หรือการรั่วซึมของแก๊สหรือไอน้ำ เป็นต้น
  • “การตรวจวิเคราะห์น้ำมัน” สำหรับเครื่องจักรน้ำมันหล่อลื่นก็เปรียบเสมือนเลือดที่สูบฉีดไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างการ การตรวจวิเคราะห์น้ำมันเป็นการดูหาการสึกหรอของเครื่องจักร จะสามารถบ่งชี้สมรรถนะและสภาพของเครื่องจักร ช่วยคาดการณ์ระยะเวลาที่จะเกิดความเสียหายในระดับรุนแรงต่อไปได้
  • การวิเคราะห์ทางไฟฟ้าใช้เพื่อตรวจสอบสภาพมอเตอร์ไฟฟ้าผ่านการวิเคราะห์สัญญาณไฟฟ้า เช่น กระแส และแรงดันไฟฟ้า และอื่น ๆ
  • “การวิเคราะห์แรงดัน” เป็นตรวจสอบระดับแรงดันอย่างต่อเนื่องแบบเรียลไทม์และแจ้งเตือนการลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันของแรงดันเครื่องจักร ทําให้ทีมซ่อมบํารุงสามารถตอบสนองและแก้ไขปัญหาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นได้

เห็นได้ว่าการนำ CBM มาใช้จะช่วยให้เกิดการเพิ่มผลผลิต ลดค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษา ลดเวลาการหยุดทํางาน ช่วยให้การวินิจฉัยปัญหารวดเร็วและแม่นยำขึ้น และลดเวลาในการบํารุงรักษาลง อย่างไรก็ดี ประโยชน์ของการบํารุงรักษาตามสภาพนั้นมาคู่กับความท้าทายหลากหลายประการ ตั้งแต่ในเรื่องของเงินลงทุนในการพัฒนาระบบ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการจัดลำดับความสำคัญของเครื่องจักรที่จะมีการใช้ CBM นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของทีมงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

สำหรับโรงงานที่มีความสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบํารุงรักษาตามสภาพ สามารถขอรับคำปรึกษาได้จาก “ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center : SMC)” ภายใต้การดำเนินงานเมืองนวัตกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS) เขตนวัตกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และบริษัทผู้ผลิตระบบและอุปกรณ์ด้านอุตสาหกรรม 4.0 ในการพัฒนาแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytic Platform, IDA Platform)” เพื่อยกระดับภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในด้านการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร รวมถึงการดำเนินการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ ผู้สนใจสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ https://www.nectec.or.th/smc/contact-us/ และยังสามารถสมัครเป็นสมาชิกของ SMC เพื่อรับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนมากมาย อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nectec.or.th/smc/services-membership/

กดติดตาม EECi เพื่อรับข่าวสารด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจ

ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0-2564-8000  email: info@eeci.or.th

=================================

Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi)

Integrate Technologies, Accelerate Innovation

https://www.eeci.or.th/th/home

=================================

ที่มา:

Condition-Based Maintenance: A Complete Guide (reliableplant.com)

Everything you need to know about condition-based maintenance (mobility-work.com)

Twitter/LinkedIn

ทำความรู้จักกับประเภทของการทำ Condition-Based Maintenance (CBM)  ได้ที่ https://www.facebook.com/EECiThailand

#EECi #digitaltransformation #smartmaintenance #SMC

footer-shape