• Home
  • / News
  • / 2023 ปีที่ทุกองค์กรต้อง...

2023 ปีที่ทุกองค์กรต้องทุ่มความสนใจไปที่การจัดการ Human Capital

Post Date : 31 January 2023

Prof. Gary Stanley Becker นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ (Nobel Memorial Prize in Economic Sciences) ได้ศึกษาวิจัยถึงแนวทางในการลงทุนที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจมากที่สุด กล่าวว่าการลงทุนที่ดีและจะได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดคือ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ หรือที่ถือว่าเป็น “ทุนมนุษย์ (Human Capital)” เพราะบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาจะสามารถนำทุนที่อยู่ในตนเองกลับมาพัฒนาองค์กรหรือสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการบริหารทุนมนุษย์ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นรากฐานความสำเร็จและความยั่งยืนขององค์กรที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาวิถีการทำงานได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน จากการทำงานที่เคยแบ่งแยกเป็นกล่องงานชัดเจนและทำงานภายใต้การควบคุมเบ็ดเสร็จภายในองค์กร เปลี่ยนสู่การเปิดกว้างของรูปแบบการทำงานของทีมงาน การมีส่วนร่วมและความร่วมมือระหว่างองค์กรที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

Deloitte ได้ทำการสํารวจแนวโน้มทุนมนุษย์ทั่วโลกประจําปี 2023 เป็นการทำ Survey กับผู้นําธุรกิจและเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคล 10,000 คน จาก 105 ประเทศ ในทุกอุตสาหกรรม

ผู้ตอบแบบสอบถาม 10,000 คน กล่าวว่าความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมาจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยจำนวนมากพร้อมกันในคราวเดียว อย่างไรก็ตาม การทลายลงของกำแพงได้สร้างโอกาสใหม่สําหรับองค์กรและคนทำงานที่พร้อมจะมีส่วนร่วมในการทำงานในรูปแบบที่แตกต่างออกไป

องค์กรและคนทำงานจะต้องเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างกฎระเบียบใหม่ ขอบเขตใหม่ และความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ อำนาจการควบคุมขององค์กรจะลดลง คนทำงานจะมีอิทธิพลต่อความสำเร็จขององค์กรทั้งในแง่ของธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

#ผู้นําในยุคที่โลกไร้ขอบเขต จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ลำดับขั้นการบริหาร หรือจำนวนผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงอีกต่อไป ผู้นำในปัจจุบันสามารถเป็นใครก็ได้ที่สามารถระดมคนทำงาน จัดการเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะทำงานอยู่ในหรือภายนอกองค์กร

จากสํารวจแนวโน้มทุนมนุษย์ทั่วโลกของ Deloitte 2023 พบว่า 94% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าความสามารถและประสิทธิผลของความเป็นผู้นํามีความสําคัญหรือสําคัญมากต่อความสําเร็จขององค์กร แต่มีเพียง 23% เท่านั้นที่เชื่อว่าผู้นําขององค์กรของพวกเขามีความสามารถที่จําเป็นในการจัดการในโลกที่ก้าวกระโดดและไร้ขอบเขต

นี่อาจเป็นเพราะในอดีตผู้นำที่ประสบความสำเร็จมักมาจากความสามารถในการหาทางออกหรือแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและยังสามารถจัดการให้พนักงานทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่บนกรอบพื้นฐานใหม่ ผู้นำอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองทั้งหมด “Cocreation”  อาจจะเป็นคำที่เราจะได้พบเจอมากขึ้นในยุคต่อจากนี้ไป

#Cocreation จะเป็นประเด็นที่ผู้นำต้องให้ความสำคัญและต้องมุ่งสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดอย่างครอบคลุมทั่วถึงทั้งพนักงานภายในและทีมงานภายนอกองค์กร ต้องรู้ทั้งในแง่ความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความมุ่งหวัง และความต้องการ ผู้นำต้องให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางในทุกการตัดสินใจ เป้าหมายขององค์กรต้องสอดคล้อง สมประโยชน์กับความต้องการของสังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับ EECi นอกจากที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับขยายผลงานวิจัยไปสู่อุตสาหกรรม ทั้งในรูปแบบโรงงานต้นแบบ สนามทดสอบ Testbed และ Sandbox ต่างๆ แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมปัจจุบัน และการเตรียมกำลังคนอนาคตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ  โดยได้จัดตั้ง “RUNs Academy (Reskill-Upskill-New skill Academy)” เพื่อเพิ่มทักษะชั้นสูงและทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานสมัยใหม่ให้กับกำลังคนในภาค SMEs และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยมุ่งพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับ 6 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่; เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ; แบตเตอรีประสิทธิภาพสูงและยานยนต์สมัยใหม่; ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ; การบินและอวกาศ; และ เครื่องมือแพทย์ โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคน สนับสนุนการพัฒนาสามเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ “BCG Economy” โดยจะเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญใน EECi ให้เกิดเป็นเครือข่ายระบบนิเวศนวัตกรรม 

กดติดตาม EECi เพื่อรับข่าวสารด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจ

ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม email: info@eeci.or.th

=================================

Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi)

Integrate Technologies, Accelerate Innovation

https://www.eeci.or.th/th/home

=================================

ที่มา

https://www2.deloitte.com/us/en/insights/focus/human-capital-trends.html

footer-shape