th | en
th | en

การเรียนรู้และการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตร

บริการด้านการพัฒนาทักษะบุคลากรภาคเกษตรและอุตสาหกรรม

ภารกิจหลักของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มุ่งเน้นปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาความเข้มแข็งของภาคการเกษตรและชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจฐานรากโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น สอดรับกับแนวทางการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ขับเครื่องประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม  สท. จึงมุ่งถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรให้เกิดการขยายผลอย่างทั่วถึง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานและสร้างความร่วมมือระหว่างเกษตรกร ชุมชน ภาครัฐและภาคเอกชน

สท. ให้บริการความร่วมมือแบบจตุภาคีจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคสังคม สร้างการเรียนรู้และการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของผลผลิตให้สอดคล้องตามความต้องการของตลาด ในหลายรูปแบบ อาทิ

  • โปรแกรมฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีการเกษตร พัฒนาทักษะของเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคในโลยีและนวัตกรรม (Area Based Approach) ผ่านสถานีเรียนรู้ (Training Hub) แหล่งเรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อพัฒนาทักษะเดิม (upskill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (reskill) ให้เกษตรกรและชุมชน นำไปประยุกต์ใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้กลยุทธ์ตลาดนำการผลิต (Inclusive Innovation)  โดยเนื้อหาเป็นการผสมผสานทั้งภาคทฤษฎี การประชุมเชิงปฏิบัติการ การฝึกปฏิบัติ การทำโจทย์ปัญหา/กรณีศึกษาจริง และการศึกษาดูงานแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจากหน่วยงานชั้นนำ ได้แก่
  1. หลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการบริการระบบงานเกษตรอัจฉริยะ (Agriculture System Integrator: ASI) ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่ให้บริการเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะของ สวทช. ทำให้เกษตรกรเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีได้สะดวกยิ่งขึ้น
  2. หลักสูตรฝึกอบรมภายใต้โครงการต่างๆ เช่น การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรและเกษตรอัจฉริยะ การถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำเกษตรในระบบอินทรีย์ การเชื่อมโยงเครือข่ายและศึกษาดูงานการผลิตและแปรรูปอย่างครบวงจร เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อชุมชน (Community based Technology and Innovation Assistance Project: CTAP) บริการให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยสนับสนุนงบประมาณไม่เกิน 80% ผู้ขอรับบริการสนับสนุนค่าใช้จ่าย 20% ของงบประมาณโครงการ

กลไกการทำงานเหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานของ สท. ตามภารกิจและตอบโจทย์การทำงานในพื้นที่หรือโครงการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาประเทศตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้

footer-shape