th | en
th | en

อุตสาหกรรมมุ่งเป้า

ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และ ระบบอัจฉริยะ

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกโดยการลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จากต่างประเทศในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยอาศัยข้อได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานราคาถูกเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดการเรียนรู้และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตที่ทันสมัย ต้องนำเข้าองค์ความรู้ เครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์ หรือแม้แต่เทคโนโลยีกระบวนการผลิตจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่มีโอกาสจะเป็นประเทศที่พึ่งพาตัวเองได้ทางเทคโนโลยี เนื่องจากขาดความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของตัวเอง

ดังนั้น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ หากไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตได้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของประเทศจะเป็นไปได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะผู้ประกอบการสามารถแสวงหาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตได้ภายในประเทศซึ่งเหมาะกับบริบทการใช้งานในประเทศ สามารถติดต่อประสานงานหรือทำงานร่วมกันกับผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อการผลิตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกว่าการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว

แผนที่นำทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายพลักดันให้อุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 กล่าวคือ เป็นยุคของอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ไว้ด้วยอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) ตัวอย่างเช่น การจัดซื้อจัดจ้าง ระบบการผลิตทั้งหมด เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต การซ่อมบำรุง ตลอดจนการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบที่ต้องมีความสามารถในการตอบสนองกับระบบดังกล่าวด้วยเช่นกัน ดังนั้นการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จึงเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญของทุกอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ หากต้องการก้าวตามนโยบายรัฐบาลสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0

เพื่อการนี้ EECi ได้กำหนดแผนที่นำทางสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตสมัยใหม่สำหรับอุตสาหกรรมยุค 4.0 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอัจฉริยะที่จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีการผลิตของผู้ประกอบการไทยแบบดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ ดังนั้น การลดภาระในการลงทุนของผู้ประกอบการ และเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญมากให้ผู้ประกอบการทั้งที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นหัวจักรสำคัญในการกำหนดโจทย์ความต้องการ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีหรือผู้ให้บริการเทคโนโลยีร่วมกับหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยวิจัย รวมไปถึงเจ้าของเทคโนโลยีตั้งต้นจากต่างประเทศ ได้ทำงานพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทขนาดใหญ่ในสถานการณ์ที่จะเป็น “win-win” บริษัทขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์เพราะจะได้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ราคาเหมาะสม และตรงกับความต้องการ ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กเห็นความต้องการที่ชัดเจนจากบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ต้องรับความเสี่ยงในการทำการวิจัยและพัฒนาโดยที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีผู้ซื้อหรือไม่

ในการขับเคลื่อนแผนที่นำทางดังกล่าว EECi จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สำคัญ เช่น

  • การสร้างต้นแบบหุ่นยนต์และจักรกลอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Advanced Industrial Robotics/Smart Machine Fabrication Lab)
  • การทดสอบทดลองการใช้งานหุ่นยนต์และเทคโนโลยีโรงงานยุคที่ 4 ในสภาวะจริง (Advanced Robotics and Factory 4.0 Testbed/Sandbox/Living Lab)
  • การผลิตต้นแบบด้วยกระบวนการผลิตแบบ Additive Manufacturing (Industrial Additive Manufacturing Pilot Production)
  • ศูนย์ถ่ายทอดทักษะอุตสาหกรรม 4.0 (Learning Factory for Workforce Reskilling)
  • การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Advanced Electronics Design for Industry 4.0)
  • การพัฒนาเซ็นเซอร์เพื่ออุตสาหกรรม (Industrial IoT Sensors Development)
  • เทคโนโลยีเออาร์/วีอาร์เพื่ออุตสาหกรรม (Augmented/Virtual Reality for Industry)
  • เอไอเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (AI for Industry)

ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

ประเทศไทยมีแนวโน้มใช้งานระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนในปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรด้านวิทยาการหุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้น มีการรวมตัวเป็นเครือข่ายในมหาวิทยาลัย มีนักศึกษาที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันหุ่นยนต์ในเวทีต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยคนไทยได้รับรางวัลชนะเลิศหุ่นยนต์กู้ภัยระดับนานาชาติจากการแข่งขันชิงแชมป์โลก World RoboCup Rescue ถึง 7 สมัย รวมถึงสมัยล่าสุดในปี พ.ศ. 2559 อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนที่เริ่มมีการผลิตหุ่นยนต์ออกจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ จึงนับว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านบุคลากรในการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ได้ทั้งเพื่อใช้เองภายในประเทศและส่งออกในอนาคต อีกทั้งในฝั่งผู้ใช้ก็ได้มีการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการผลิตมากขึ้น เนื่องมาจากอัตราค่าแรงงานที่ขยับตัวสูงขึ้นในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการลดทุนในการผลิตลง ดังนั้น EECi จึงมุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้งานระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นเองภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย คือ การขาดตลาดภายในประเทศ เพราะผู้ใช้งานมักไม่ได้ให้ความสำคัญกับหุ่นยนต์ที่พัฒนาในประเทศเท่าที่ควร จากการที่ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ที่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริการเป็นระบบอัตโนมัติต่างๆ ล้วนนำเข้าหุ่นยนต์จากต่างประเทศ ทั้งยังขาดการส่งเสริมผู้ประกอบการหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรมให้เติบโตจนกลายเป็นวิสาหกิจเริ่มต้นทางด้านเทคโนโลยี (Tech Startup) ที่เป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศในอนาคต ทำให้ไทยยังต้องอาศัยการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีมูลค่าสูงจากต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไป

  1. มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นเองภายในประเทศเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมการผลิต เช่น เครื่องจักรกลอัตโนมัติ (Automated Guided Vehicle: AGV) เป็นต้น
  2. มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโมดูลด้านระบบอัตโนมัติที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต และยานพาหนะไร้คนขับ (Unmanned vehicle) เช่น อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) อากาศยานปีกตรึง (Fixed – wings) และอากาศยานปีกหมุน (Drone) บอลลูนเพื่อการพาณิชย์ดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดาวเทียมพิกัดตำแหน่ง (Global Navigation Satellite System: GNSS) สำหรับประยุกต์ใช้งานเฉพาะทางต่างๆ ทั้งในการสำรวจ การตรวจสอบ และการบำรุงรักษา เป็นต้น
  3. มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาหุ่นยนต์บริการที่มีมูลค่าสูง (High-value services robots)
  4. มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาหุ่นยนต์ทำงานเฉพาะทางที่ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ช่วยในการฟื้นฟูหรือช่วยเหลือผู้ป่วย หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ หุ่นยนต์บริการในบ้าน สำนักงาน และร้านค้า หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ใช้งานทางการเกษตร และหุ่นยนต์เพื่อการศึกษา เป็นต้น
footer-shape