th | en
th | en

อุตสาหกรรมมุ่งเป้า

การบิน

ด้วยพื้นฐานของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่เข้มแข็งของประเทศ ทำให้ไทยมีศักยภาพและมีโอกาสในการพัฒนาอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยานในอนาคต โดยเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน อากาศยานไร้คนขับ อวกาศ และดาวเทียม รวมไปถึงการซ่อมบำรุงอากาศยาน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เป็นอุตสาหกรรมที่มีข้อกำหนดสูง มีการปิดกั้นผู้ประกอบการใหม่ๆ ทำให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ได้ยากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ

อีกทั้งจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ (Advance Materials Technology) เทคโนโลยีการบินและอวกาศ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิเคราะห์ทดสอบทางด้านมาตรฐานในระดับที่สูงขึ้นกว่าที่ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมไว้ในอดีต จึงจำเป็นจะต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพให้สามารถดึงดูดผู้ประกอบการที่สำคัญระดับโลกเข้ามาประกอบกิจการหรือวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย

ทั้งนี้ EECi ได้กำหนดแผนที่นำทางสำหรับเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศแล้ว ซึ่ง EECi จะทยอยลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้โดยลำดับ ตัวอย่างเช่น

  • เทคโนโลยีวิศวกรรมการประกอบชิ้นส่วนการบินและอวกาศ (Aerospace and Aviation System Integration)
  • วิศวกรรมการออกแบบอากาศไร้คนขับและอวกาศยาน (Drone/UAV System Design)
  • เทคโนโลยีเอไอเพื่อการบินและอวกาศ (AI for Aerospace & Aviation)
  • เทคโนโลยีการประยุกต์ใช้งานข้อมูลดาวเทียมแม่นยำ (GNSS Application Development)
  • การทดสอบการใช้งานอากาศยานไร้คนขับในสภาวะจริง (Drone/UAV Testbed-Sandbox-Living Lab)
  • การทดสอบและออกใบรับรอง (NQI Testing & Certification)
  • ศูนย์ฝึกอบรม Drone/UAV (Drone/UAV Training Center)

ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องวางแผนและเตรียมความพร้อมให้เหมาะสมทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยและพัฒนา เช่น เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีทางด้าน Data Analytics, Artificial Intelligence, Cyber Security โครงสร้างพื้นฐานในการทดสอบอากาศยาน รวมไปถึงสนามบินขนาดเล็กเพื่อการทดสอบอากาศยาน โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการทดลองและปรับปรุงกฎหมาย เช่น Regulatory Sandbox เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐยังต้องผลักดันการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นตลาดที่สำคัญให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องผลักดันกฎหมายให้ทันกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขึ้นทะเบียนหรือจดทะเบียนประกอบธุรกิจการผลิตอากาศยานขนาดเล็กหรือนำอากาศยานขนาดเล็กไปให้บริการด้านต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับทางด้านเกษตรกรรมแม่นยำ (Precision Agriculture) การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การป้องกันสาธารณภัยหรือการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น

footer-shape