th | en
th | en

เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ระดับพลังงาน 3 GeV

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เดินหน้าเครื่องซินโครตรอนเครื่องใหม่ ระดับพลังงาน 3 GeV เป็นศูนย์กลางวิจัยด้านแสงซินโครตรอนชั้นแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในอนาคต มุ่งเน้นงานวิจัยด้านการแพทย์ – เกษตร – อุตสาหกรรม และอื่น ๆ ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก: EECi

“เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน” ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญและได้รับการยอมรับจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้เป็นเครื่องมือที่มีพลานุภาพซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์มากมายมหาศาลต่องานวิจัยทางด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และด้านอื่น ๆ เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมในการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาทุนมนุษย์ เป็นต้น โดยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่จะจัดสร้างใหม่ มีค่าระดับพลังงาน 3 GeV ขนาดเส้นรอบวงประมาณ 321.3 เมตร โดยใช้เทคโนโลยี Double Triple Bend Achromat (DTBA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย จะส่งผลให้แสงซินโครตรอนที่ได้มีความสว่างจ้าของแสงมากกว่าเดิม 1 ล้านเท่า รวมถึงสามารถรองรับระบบลำเลียงแสงได้สูงถึง 22 ระบบ จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ด้านงานวิจัยได้หลากหลาย สถานที่ตั้งที่เหมาะสมทางยุทธศาสตร์ของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่นั้น จะตั้งอยู่ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) จังหวัดระยอง ด้วยเหตุผลทางด้าน (1) ความมั่นคงทางธรณีวิทยา (2) การเข้าถึงในแง่ของระบบขนส่งมวลชนและการคมนาคม (3) ความใกล้เคียงกับเขตอุตสาหกรรม (4) ความใกล้เคียงกับสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัย และ (5) ความร่วมมือและการร่วมทุนฯ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นการผลักดันการลงทุนขนาดใหญ่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว และก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพื่อยกระดับไปสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” อย่างมั่นคงยั่งยืน

โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนนี้ จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งได้แก่ การสร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพ ตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างเครื่องฯ การออกแบบ การผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ตลอดจนการดำเนินงานโครงการ นอกจากนี้เมื่อโครงการแล้วเสร็จยังสามารถให้บริการแก่ภาคเอกชนได้ อันจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกไม่น้อยกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV รองรับกลุ่มงานวิจัย เช่น

  1. ด้านการแพทย์ การศึกษาโครงสร้างของโปรตีน ไวรัส และเอนไซม์เพื่อหากลไกของการติดเชื้อ นำไปสู่การออกแบบยารักษาโรคใหม่ ๆ ยกระดับความสามารถทางการแพทย์และเภสัชกรรม
  2. อาหารและการเกษตร ช่วยเพิ่มมูลค่าตั้งแต่การจัดการผลผลิต กระบวนการทางวิศวกรรมด้านการเกษตร การแปรรูปอาหาร การพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารไปจนถึงความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับแผนของรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตร
  3. อุตสาหกรรมวัสดุขั้นสูง ช่วยวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของวัสดุภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เพื่อตอบสนองความต้องการในการทำวิจัยและพัฒนาวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีตสูตรใหม่ โลหะ และวัสดุคอมโพสิทชนิดใหม่
  4. ด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยในการวิเคราะห์การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างโรคพืชและโมเลกุลที่พืชดูดซึมเข้าไปได้ ซึ่งจะนำไปสู่การหาแนวทางป้องกันการเกิดโรคในพืช และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
  5. ด้านโบราณคดี การศึกษาโบราณคดีในเชิงนิติวิทยาศาสตร์ ที่จะเป็นการวิเคราะห์โครงสร้างในระดับอะตอมเชิงลึก ทั้งการหาที่มา ตลอดจนการจำลองโครงสร้าง 3 มิติ ด้วยเทคนิคทางแสงซินโครตรอน เพื่อไขปริศนาข้อมูลโบราณที่ขาดหายไป และการผลิตของใหม่เพื่อการบูรณะ

ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV ในอีก 8 ปีข้างหน้า ถือเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยการใช้ความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เป็นปัจจัยขับเคลื่อนประเทศอย่างเข้มข้น การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างมากมายและไม่หยุดยั้งนั้น นำไปสู่การแก้ไขปัญหา ลดต้นทุน ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และเพิ่มศักยภาพให้ภาคการผลิต การบริการ รวมถึงภาคสังคมเพื่อมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อนำพาประเทศก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยศักยภาพและความพร้อมดังกล่าว ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางวิจัยด้านแสงซินโครตรอนชั้นแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในอนาคต

footer-shape