th | en
th | en

อุตสาหกรรมมุ่งเป้า

เกษตรสมัยใหม่

ภาคเกษตรมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย เนื่องจากแรงงานในภาคเกษตรมีจำนวนมากกว่า 12 ล้านคนหรือคิดเป็น 31% ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ ครอบคลุมครัวเรือน 6.8 ล้านครัวเรือน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2561) อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรมีสัดส่วน GDP เพียงร้อยละ 8.7 (ปี 2017) ทั้งนี้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา GDP ภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง และกำลังเผชิญกับประเด็นท้าทายและบททดสอบใหม่ๆ มากขึ้น อาทิ ทรัพยากรการเกษตรมีจำกัด การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการระบาดของโรค/แมลงศัตรูพืชมีความรุนแรง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ นอกจากนี้ บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มขาดแคลน ประกอบกับผู้บริโภคให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมส่งผลให้การทำเกษตรต้องมุ่งสู่เกษตรยั่งยืน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการใช้สารเคมี และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ทิศทางการเกษตรของประเทศไทยจะต้องมุ่งสู่การเกษตรแบบที่เน้นการเพิ่มมูลค่าและความยั่งยืนด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตอบโจทย์ทั้งการเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น สร้างดุลยภาพระหว่างการเพิ่มปริมาณผลผลิตกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย เทคโนโลยีที่เป็น Megatrend อาทิ เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เทคโนโลยีจีโนม (Genome Technology) เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotic & Sensing Technology) และระบบข้อมูล Big Data ซึ่งมีบทบาทและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก (Disrupt) กับภาคการเกษตร โดยสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำการเกษตรจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farming) ที่มีประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าให้สูงขึ้น ตั้งแต่ในส่วนของผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค รวมถึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการทางธุรกิจการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการทางการเกษตร ด้วยการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้นมากขึ้นตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูป จนถึงการตลาด

ตัวอย่างของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก (Disrupt) เหล่านี้ เช่นเทคโนโลยีในการประเมินลักษณะที่ปรากฎที่เรียกว่า (Phenomics Technology) ที่บูรณาการนำระบบ Image Analysis เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติเข้าด้วยกัน สามารถตรวจสอบการทำงานของพืชที่ตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทั้งในสภาพโรงเรือนที่ควบคุมสภาวะแวดล้อมได้ที่ช่วยประหยัดเวลา พื้นที่ งบประมาณ รวมทั้งการตรวจวัดไม่ทำลายตัวอย่างทำให้ลดการสูญเสียพืช และในสภาพแปลงเปิดที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงสภาพการปลูกจริง ซึ่งเป็นเงื่อนไขความสำเร็จที่สำคัญของการร่นระยะเวลาและเพิ่มความแม่นยำของการการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ลักษณะดีเด่นเร็วขึ้นให้ทันกับความต้องการของตลาดและเกษตรกร อีกตัวอย่างที่สำคัญ คือ การทำเกษตรแบบแม่นยำ (Precision Agriculture) ซึ่งในการทำเกษตรกรรมนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องตัดสินใจในเรื่องต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่ต้องเลือกพันธุ์ การให้น้ำ การให้ปุ๋ย แร่ธาตุ อาหารฯ

ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้สัญชาตญาณและการลองผิดลองถูกเป็นหลัก แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทั้งในการเก็บข้อมูล Big Data ที่แม่นยำ ได้แก่ เซนเซอร์ UAVโดรน ดาวเทียม เทคโนโลยีในการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ (Data Management) และระบบการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำ (Data Analytics) จะช่วยเกษตรกรตัดสินใจได้แม่นยำยิ่งขึ้น หาช่วงเวลาที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการเพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์ การให้ปุ๋ย แร่ธาตุ อาหารและน้ำในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการวิเคราะห์เพื่อหาเกิดขึ้น นอกจากนี้ การทำเกษตรแบบแม่นยำยังถูกปรับใช้ในการเพาะปลูกในสภาพโรงเรือนปิดที่เรียกว่าระบบโรงเรือนอัจฉริยะ เป็นโรงเรือนปลูกพืชที่มีการให้น้ำ ธาตุอาหาร และให้แสงเพื่อสังเคราะห์ โดยการควบคุมจากระบบคอมพิวเตอร์สมองกล แบบอัตโนมัติ หรือกึ่งอัตโนมัติ และที่ก้าวรุดหน้าไปอีกขั้นคือ Plant Factory เป็นโรงเรือนปลูกพืชในระบบควบคุมอย่างสมบูรณ์ (ควบคุมแสง ความชื้น ความยาวคลื่นแสง อุณหภูมิ คาร์บอนไดออกไซด์ฯ) ตัวอย่างพืชที่เหมาะกับ Plant Factory ได้แก่ พืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและต้องการคุณภาพ Premium Quality พืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่ปลูกไม่ได้ในสภาพแวดล้อมประเทศไทย พืชสมุนไพรเพื่อสกัดสารสำคัญ เป็นต้น

footer-shape