th | en
th | en

ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC)

ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC)

การผลิตในอุตสาหกรรมยุคที่ 4 (Industry 4.0) ต้องเท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและโครงสร้างประชากร ระบบเศรษฐกิจที่เข้าสู่สภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรง ความต้องการและรสนิยมผู้บริโภคที่มีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ขีดความสามารถที่มีอยู่แต่เดิมของผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็กและขนาดกลางในห่วงโซ่การผลิตของโลก ไม่สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมและเท่าทันกับความต้องการที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ การผลิตในช่วงเวลาต่อไปจะต้องมีประสิทธิภาพมากขั้นโดยต้องอาศัยกระบวนการผลิตกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติเพื่อลดผลกระทบจากการใช้แรงงานราคาถูกที่เข้าถึงได้ยากมากขึ้นโดยลำดับ ควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของบุคลากรที่มีอยู่ให้สามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติได้อย่างเหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต รักษาคุณภาพการผลิตให้มีความคงที่อย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่จะต้องพัฒนากระบวนการผลิตให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถผลิตชิ้นส่วนได้หลากหลายมากขึ้นในขณะที่จำนวนของการผลิตในแต่ละช่วงเวลาจะมีจำนวนน้อยชิ้นลงอันเป็นผลมาจากความต้องการที่หลากหลายและมีความจำเพาะมากขึ้นของผู้บริโภคแต่ละราย ในขณะที่ตัวองค์กรการผลิตเองก็ต้องมีระบบข้อมูลทางการผลิตที่ทันต่อเวลาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องแม่นยำเพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับภาคการผลิตอื่นในลักษณะเดียวกันที่มีกระจายอยู่ทั่วโลก นอกจากนั้นเจ้าของผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย (End Products) ก็มีแนวโน้มในการถ่ายโอนความรับผิดชอบในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมาสู่ผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็กและขนาดกลางในห่วงโซ่การผลิตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาคการผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็กและขนาดกลางจึงต้องมีการพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถในการวิจัยพัฒนา ออกแบบและความสามารถทางวิศวกรรมได้ด้วยตัวเองเพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในภูมิภาคต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก

ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center: SMC ภายใต้การสนับสนุนจาก EECi ARIPOLIS ถูกจัดตั้งมาด้วยวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ผนวกกับการสำรวจความต้องการที่แท้จริงจากภาคการผลิตอย่างเข้มข้น ในรูปแบบต่างๆ เช่น การประชุมระดมสมอง การประชุมกลุ่มย่อย การศึกษาดูงานในองค์กรวิจัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ โดยศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน มีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ด้านดังนี้

(1) ด้านการพัฒนาบุคลากร
กิจกรรมด้านการพัฒนาบุคลากรถือว่าสำคัญมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งนี้ต้องมีความครอบคลุมบุคลากรในทุกระดับตั้งแต่การสร้างความตระหนักในแนวโน้มเทคโนโลยีการผลิตในอนาคตให้แก่ผู้บริหารระดับสูง การสร้างความรู้ความเข้าใจในระดับที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงให้แก่ผู้บริหารระดับกลางและวิศวกรขององค์กร ไปจนถึงทักษะของผู้ปฏิบัติงานในสายการผลิต ซึ่งการพัฒนาบุคลากรนี้ต้องมีทั้งการพัฒนาในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในส่วนของการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ (Upskilling) และการทบทวนองค์ความรู้ที่จำเป็น (Reskilling)

(2) ด้านการสร้างเครือข่าย การเชื่อมโยงเทคโนโลยีและธุรกิจ (Business and Technology Matching) และการผลักดันมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม
ระบบสายการผลิตตัวอย่าง หรือ Sustainable Factory Demo Production Line และ Testbed จะประกอบไปด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัยอย่างครบครัน ให้ภาคการผลิตขนาดเล็กและขนาดกลาง ได้มาทดสอบทดลองปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตของตนเองให้เป็นระบบการผลิตกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติ โดยสามารถปรับตัวแปร (Parameters) ต่างๆ จนได้กระบวนการผลิตที่เหมาะสม ก่อนการตัดสินใจลงทุนในกระบวนการผลิตจริงที่โรงงานของตนเอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกันยังเป็นสถานที่ที่ System Integrators: SIs สามารถทำวิจัยพัฒนา ออกแบบ ผลิตต้นแบบ ทดสอบทดลอง เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ เพื่อตอบสนองกระบวนการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ตามความต้องการของภาคการผลิตขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและภาคการผลิตขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งการมี SIs ที่มีขีดความสามารถสูงในประเทศถือเป็นแต้มต่ออย่างหนึ่งให้กับภาคการผลิตทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ในประเทศให้สามารถพัฒนากระบวนการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

(3) ด้านสายการผลิตตัวอย่าง และ Testbed
เครือข่ายอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง จะช่วยเชื่อมโยงผู้มีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันทั้งในและต่างประเทศให้มาทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันภาคการผลิตไทยให้มีการปรับตัวเข้าสู่ Industry 4.0 ได้อย่างเกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เรียนรู้แนวโน้มของเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆตลอดจนแนวโน้มความต้องการผู้บริโภค การจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมร่วมกัน การผลักดันมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อภาครัฐร่วมกัน รวมไปถึงการเชื่อมโยงทางด้านเทคโนโลยีและธุรกิจให้เกิดการความร่วมมือทั้งในระดับ ทวิภาคี และพหุภาคี

(4) ด้านการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรทางด้านวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม ในระดับขยายผล (Translational R&I) เพื่อให้บริการแก่ SIs และภาคการผลิต ทั้งเข้าไปสนับสนุนองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการผลิตเป็นรายโครงการตามความต้องการของ SIs และภาคการผลิต และการทำวิจัยพัฒนาในเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ เพื่อการผลิตในอนาคต ทั้งนี้ถือเป็นการลดภาระของ SIs และภาคการผลิต ในการทำวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่ยังไม่มีความแน่นอนและมีความเสี่ยงสูง

(5) ด้านมาตรฐาน และบริการตรวจประเมินความพร้อมภาคการผลิต
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนให้ความสำคัญกับมาตรฐานทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ซึ่งถือเป็นแกนกลางในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในหลายๆภาคส่วน ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ตลอดจนระบบบริหารจัดการการผลิต ให้มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมหรือสอดคล้องกัน รวมไปถึงการให้บริการทดสอบมาตรฐานฮาร์ดแวร์ การทดสอบมาตรฐานด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งในปัจจุบันนับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในภาคการผลิต นอกจากนี้ยังมีบริการตรวจประเมินความพร้อมภาคการผลิต โดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ภาคการผลิตทราบถึงสถานภาพของตนว่าอยู่ในช่วงการพัฒนาใดของ Industry 4.0 และช่วยให้ภาคการผลิตทราบถึงช่องว่าง (Gap) ก่อนที่จะดำเนินการปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านเครื่องมือ/ตัวชี้วัดการประเมินระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น SIRI (Smart Industry Readiness Index)

footer-shape